เทศกาลโอบ้ง (お盆祭り) (Obon Matsuri) ประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ

เทศกาลโอบ้ง (お盆祭り) (Obon Matsuri) ประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ

เทศกาลโอบ้ง (お盆祭り) (Obon Matsuri) ตรงกับวันที่ 13 - 16 สิงหาคมของทุกปี ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงนี้เพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพและเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ (คล้ายๆเชงเม้งของชาวจีน) เป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วจะกลับมาจากนรกภูมิ เริ่มต้นจะมีการจุดไฟต้อนรับที่หน้าบ้าน ถวายผักบูชา มีการละเล่น แล้วในตอนเย็นของวันที่ 15 ก็มีการส่งวิญญาณบรรพบุรุษด้วยการจุดไฟที่เรียกว่า โทโรนางาชิ เป็นโคมกระดาษมีเทียนจุดไฟอยู่ภายใน แล้วนำไปลอยในแม่น้ำเพื่อนำทางให้วิญญาณบรรพบุรุษลอยออกสู่ทะเล โดยพิธีการลอยโคมไฟของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป และในวันสุดท้าย 16 สิงหาคม จะจุดไฟโอคุริบิ (Okuribi) เป็นการส่งกลับวิญญาณบรรพบุรุษ

เทศกาลโอบ้ง โทโรนางาชิ

เทศกาลโอบ้ง เป็นประเภณีที่ถูกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องและลูกหลานได้อย่างอิสระ คนญี่ปุ่นในทุกบ้านเรือนจะจัดอาหารคาวหวานและดอกไม้ขึ้นตั้งให้ไว้บนหิ้งหรือตู้ของบรรพบุรุษซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า บุสึดัง เพื่อต้อนรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษของตน จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้พักผ่อนและได้กินอยู่อย่างอิ่มหนำสำราญ และจะมีกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้ดวงวิญญาณเหล่านี้อยู่ที่บ้านได้นานถึงเกือบหนึ่งเดือน แล้วจากนั้นถึงจะนำกลับไปส่งยังที่สุสานอย่างเดิม ซึ่งเป็นอันว่าเป็นการเสร็จพิธีการหรือจบการไหว้ในเทศกาลโอบ้ง

ที่มาของธรรมเนียมของเทศกาลโอบ้งนั้นมีตำนานว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่เหนือผู้ใดทั้งปวงในโลก มีผู้หนึ่งชื่อ โมคุเรน เป็นผู้กำพร้ามารดา ต่อมาเขาเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ ทำการเพียรจิตสมาธิจนกระทั่งสามารถได้เห็นนรกและสวรรค์ ครั้งหนึ่งพระโมคุเรนได้ไปท่องนรกภูมิก็เกิดได้ไปพบและได้เห็นว่ามารดาของตนนั้นต้องทนทุกขเวทนาอดๆอยากๆอยู่ที่นั่น ท่านมีจิตเวทนาและนึกสงสารในผลกรรมอันแสนที่จะทารุณอันไม่จบสิ้นของมารดาเป็นอย่างมาก

วันหนึ่ง พระโมคุเรนได้มีโอกาสได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อมีโอกาสจึงได้เล่าเรื่องราวที่ท่านไปเห็นมารดาที่ในนรกภูมิมา และยังกราบทูลถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถที่จะช่วยหรือแบ่งเบาให้มารดาของตนนั้นคลายจากทุกขเวทนานี้เสียได้ พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับรับฟังแล้วตรัสกับพระโมคุเรนว่า ดูกรโมคุเรน ไม่ใช่ว่าจะคิด ช่วยแต่เฉพาะคนคนเดียว ไม่ใช่ว่าจะคิดช่วยแต่แค่มารดาของตนแต่เพียงอย่างเดียว จงคิดช่วยไปถึงบุคคลอื่นๆทุกคนที่ได้ตายไปครั้งก่อนๆที่ไม่ใช่ญาติของเราก็ตาม ท่านจงอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาให้กับเขาเหล่านั้นทุกคนเสียด้วย

เรื่องราวของพระโมคุเรนนี้จึงทำให้เกิดธรรมเนียม เทศกาลโอบ้ง ขึ้นในกาลเวลาต่อมา ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายถึงการทำการต้อนรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วให้กลับมาพักผ่อนที่บ้านได้และให้ได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ พิธีการต้อนรับดวงวิญญาณนั้นก็จะมีการจุดไฟเพื่อรับดวงวิญญาณกันที่ท่าน้ำบ้าง ที่หน้าบ้านของตนบ้าง หรือไปรับกลับมาโดยตรงจากสุสานของตระกูลก็มี เป็นธรรมเนียมที่กระทำกันต่อๆมาจนถึงปัจจุบันนี้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเทศกาลโอบ้ง

เทศกาลโอบ้ง เป็นงานเลี้ยงฉลองต้อนรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเพื่อให้เกิดความครื้นเครงรื่นรมย์หรรษาในขณะที่ได้กลับมาที่บ้านของตน งานจะคล้ายๆกับงานวัดของไทยเรานี่เอง โดยจะมีการตีกลองและจะเต้นรำไปรอบๆชั้นที่สร้างเป็นห้างอยู่กลางงาน เด็กๆและผู้ใหญ่ก็จะใส่ชุดยูกาตะ (ชุดกิโมโนหน้าร้อน) และต้องสวมถุงเท้าที่เรียกว่า Zori และรองเท้าเกี๊ยะที่เรียก Geta เท่านั้นถึงจะถูกต้องตามประเพณี ในงานจะมีเสียงเพลงบรรเลงอยู่ตลอดเวลา สร้างบรรยากาศให้สนุกสนานและครื้นเครงได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว งานนี้จะมีกำหนดระยะเวลาถึงเกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ แต่จะจัดสลับกันไปในหลายๆที่จนทั่วทั้งเมือง และในหนึ่งงานนั้นจะจัดกันประมาณ 3 - 4 วันเป็นอย่างน้อย

โชเรียวอุมะ จะเป็นชื่อของมะเขือม่วงและแตงกวา ที่ได้ใช้ตะเกียบหรือไม้ไผ่นำมาเหลาให้เล็กๆแล้วนำไปเสียบให้เป็นขาสี่ขา สันนิษฐานตามความเชื่อถือกันมาแต่สมัยโบราณว่า มะเขือม่วงนั้นเปรียบเป็นม้า และแตงกวาก็จะเปรียบเป็นวัว เชื่อกันว่าวิญญาณหรือผีของญี่ปุ่นนั้นจะไม่มีขา เพราะเชื่อกันว่าเมื่อตายลงไปก็จะโดนตัดขาทิ้งเสียนั่นเอง ดังนั้นวิญญาณเหล่านี้จึงจะต้องมีหรือจะต้องใช้สิ่งสองสิ่งนี้เป็นที่นั่งและที่วางสัมพาระต่างๆของตนบรรทุกกลับมาสู่บ้านนั่นเอง

เทศกาลโอบ้ง - เทศกาลไดมงจิ โกซัน โอคุริบิ
 
เทศกาลไดมงจิ โกซัน โอคุริบิ จังหวัดเกียวโต คือการจุดกองไฟบนภูเขาทั้ง 5 ของเกียวโต กองไฟที่ยิ่งใหญ่ตระการตาในรูปร่างของตัวอักษรจีนว่า ได ซึ่งมีความหมายว่า ใหญ่ อยู่บนหน้าภูเขาฮิกาชิ และยังมีตัวอักษรจีนอื่นอีก 4 ตัวบนหน้าภูเขาลูกอื่นอีก 4 ลูกด้วยกัน โดยจะเริ่มจุดในเวลา 2 ทุ่มตรง เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่ตระการตาที่สุดของงานเทศกาลโอบ้ง ส่วนตารางเวลาของงานนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของวันนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น